วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551

อนุพงษ์ ต่อสายตรง ทักษิณ เบื้องหลังล้มโหวต สมัคร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความพลิกผันของสถานการณ์การเมือง นำไปสู่การล้มโหวตนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน สืบเนื่องมาจากเมื่อกลางดึกวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากที่พรรคพลังประชาชนมีมติเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทำให้บรรดานายทหารระดับสูงหลายคนไม่สบายใจ เกรงจะเกิดแรงต่อต้านที่รุนแรงและนำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งที่หนักหน่วงขึ้นไปอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกได้โทรศัพท์สายตรงไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งความไม่สบายใจพร้อมกับระบุด้วยว่า สถานการณ์ จะไปไม่รอดหากเสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

หลังจากนั้นหลายฝ่ายได้ประสานงานกัน เริ่มจากนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เดินทางไปร่วมหารือกับนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่บ้านซอยจรัญสนิทวงศ์ 55 โดยมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ด้วย ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนพรรคพลังประชาชน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช่นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี จึงประสานไปยังแกนนำพรรคพลังประชาชนที่คัดค้านนายสมัครว่า จะไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เลื่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปเป็นวันพุธที่ 17 กันยายน ดังกล่าว

อ้างอิง : http://hilight.kapook.com/view/28813

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

โหวตเลือกนายกฯ ล่ม! ส.ส.เข้าไม่ครบเลื่อนเป็น 17 ก.ย.


วันนี้ (12 กันยายน) เวลา 06.50 น. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.อีสานพัฒนา พรรคพลังประชาน กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า เชื่อว่า ส.ส.จากกลุ่มต่างๆ ทั้งอีสานพัฒนา ส.ส.กลุ่มเหนือ กลุ่มวาดะห์ ฯลฯ กว่า 70 เสียงขึ้นไป จะไม่มีทางโหวตเลือกนายสมัคร สุนทรเวช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ตามมติของพรรคพลังประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกคนก็รู้ว่านายสมัครไม่มีความเหมาะสม ดูได้จากนิสัยของนายสมัคร ที่คิดว่าตัวเก่งและถูกตลอดเวลา การไม่รับฟังความคิดเห็นใคร ซึ่งสื่อมวลชนก็ทราบดีว่า นายสมัครนั้นตั้งแง่อย่างไร

"ถ้าหากในที่ประชุมสภาเลือกนายสมัครกลับมาอีกครั้ง ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ และมีทีท่าว่าจะเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตนอยากจะบอกให้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมเอาประเทศชาติไว้ก่อนจะดีกว่า ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ด้วยการเลือกคนที่เหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรี การที่ ส.ส.ทั้งเหนือและอีสานหลายๆ คน จะลงคะแนนให้นายสมัคร ก็เพราะว่าอาจต้องมนต์เขมร ที่ปัดเป่าทำให้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยถึงได้เป็นอย่างนี้ไปเสียหมด ซึ่งการที่ใครๆ ต่างเลือกนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะนายสมัครคงมีของดี มีคนพูดว่ามนต์เขมรขลัง กล่อมใครก็อยู่หมัด" นายปรีชา กล่าว

ด้าน นายปรีชา ยืนยันว่าจะไม่มีการโหวตสวน คือ ไปเลือกเอานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างแน่นอน เนื่องจากโดยมารยาทางการเมืองแล้ว กลุ่มตนก็ต้องให้เกียรตินายสมัครที่เป็นหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 09.40 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้เข้าร่วมประชุม 145 เสียง มีผู้ให้การรับรอง 144 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

จากนั้น นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ลุกขึ้นถกเถียงถึงระเบียบขั้นตอน รวมทั้งขอให้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนับองค์ประชุม โดยนายชัย ประกาศมีผู้เข้าร่วมประชุม 161 คน ดังนั้น ไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี ส.ส.เข้าประชุม 233 คน จึงได้นัดประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันพุธที่ 17 กันยายน เวลา 09.30 น. และทำการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีรายงานว่าแกนนำแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลได้โทรศัพท์แจ้งไปยังแกนนำพรรคพลังประชาชนว่า จะไม่ขอร่วมประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และถ้าพรรคพลังประชาชนยังดึงดันจะเสนอนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พรรคร่วมทั้งหมดก็จะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทย กล่าวว่า ที่ไม่ร่วมประชุมไม่ใช่อริยะขัดขืน แต่พรรคพลังประชาชนไม่ให้ความชัดเจน จึงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน ไม่ใช่เรื่องสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช คงต้องรอดูวันพุธที่ 17 กันยายน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป

อ้างอิง : http://hilight.kapook.com/view/28777

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัคร หลุดตำแหน่ง นายกฯ มติศาล 9-0 ขาดคุณสมบัติ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี "สมัคร สุนทรเวช" จัดรายการชิมไปบ่นไป และยกโขย่งหกโมงเช้า มีมติเอกฉันท์ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้านพรรคพลังประชาชน เตรียมผลักดัน"สมัคร"เป็นนายกฯ รอบ 2


นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.และคณะรวม 29 คนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ "นายสมัคร สุนทรเวช" นายกรัฐมนตรี ในการรับจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" เป็นนัดสุดท้าย หลังจากได้นัดไต่สวนนายสมัคร และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการบริหารบริษัท เฟซ มีเดีย ผู้ผลิตรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า เป็นนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา


ทั้งนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า การจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ของนายสมัครนั้นมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติเอกฉันท์ 9-0 ก่อนหน้านนั้น นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน และคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคพลังประชาชน กล่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป ของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า แนวทางที่ศาลจะวินิจฉัยนายสมัครมี 2 ทาง 1. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ และ 2. ไม่ได้เป็น เพราะขัดมาตรา 182 วงเล็บ 7 ประกอบรัฐธรรมนูญในมาตรา 267 ซึ่งกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่านายสมัคร มีการกระทำที่ต้องห้ามต่อคุณสมบัติการเป็นนายกฯ และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็พ้นจากการทำหน้าที่เช่นเดียวกันนั้น


หลังจากนี้เมื่อศาลส่งคำวินิจฉัยมายังสภาฯ ประธานสภาก็จะต้องแจ้งให้สมาชิกสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งนี้ในกรณีของนายสมัคร ถือเป็นกรณีเดียวกับ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ที่เคยพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว แต่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารได้ใหม่


"แม้ในที่สุดศาลวินิจฉัยว่ามีการกระทำการต้องห้าม ทำให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป แต่สถานะความเป็นส.ส.ยังคงอยู่ ดังนั้นนายสมัครก็สามารถจะปฎิบัติหน้าที่ในส่วนของ ส.ส.ได้ และมีสิทธิที่จะได้รับการโหวตเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ต้องหยุดการกระทำต้องห้าม ส่วนสมาชิกพรรคพลังประชาชนจะเลือกนายสมัครมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่สถานการณ์ขณะนี้นายสมัคร ยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษอะไรเกิดขึ้น" นายสุขุมพงษ์ กล่าว


อ้างอิง : http://hilight.kapook.com/view/28680
ผึ้งแตกรัง..."นักศึกษา" หยุดเรียนร่วมม็อบ! กู้ชาติ


นักศึกษา กู้ชาติดีเดย์วันนี้หยุดเรียนทั่วปท. ใช้ยุทธการ ผึ้งแตกรัง บุกจุดสำคัญทุกภาค

นายวสันต์ วานิขย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนิสิตนักศึกษากู้ชาติ หรือยังแพด (Young PAD) แถลงยืนยัน ได้ประสานกับแนวร่วมทั่วประเทศแล้วว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 กันยายน) จะเริ่มหยุดเรียนเป็นวันแรกจากเวลา 3 วัน เพื่อออกเคลื่อนไหวทางการเมืองตามยุทธการ "ผึ้งแตกรัง" โดยจะนัดรวมตัวกันตามจุดสำคัญต่างๆ ในแต่ละภาค แต่จุดใหญ่ที่สุดคือสะพานมัฆวานฯจากนั้นจะมาหารือเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะเคลื่อนขบวนนักศึกษาไปกดดันยังสถานที่ใด แต่เบื้องต้นอาจจะไปสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยมีการปรามาสว่านิสิต นักศึกษา ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง ดังนั้น ในวันที่ 9 กันยายน ซึ่งเป็นวันดีเดย์ จะได้เห็นนิสิต นักศึกษา 80 สถาบัน ออกมาแสดงพลัง ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และอาจารย์ต้องสนับสนุนอย่างมีวิจารณญาณ โดยนิสิต นักศึกษา มีสิทธิหยุดเรียน และอาจารย์มีวิจารณญาณที่จะไม่นับเป็นวันขาดเรียน โดยถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเรียนรู้ปัญหาบ้านเมือง และสร้างจิตสำนึกให้รักบ้านเมือง ฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และตำรวจออกมาปรามนิสิต นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยเอาระเบียบข้อบังคับมาห้ามนั้น ควรคิดใหม่ได้แล้ว

ส่วนนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ได้เปิดเว็บไซต์นิสิต นักศึกษารวมใจ..รักษาประชาธิปไตย http://www.mua.go.th/democracy.html เป็นเวทีให้แสดงความคิดเห็นบทบาทของนิสิต นักศึกษา ว่าส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไร เพื่อนำไปจัดการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยว่าควรมีรูปแบบอย่างไร ส่วนการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นขณะนี้ อาจทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่พอใจ จึงต้องเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากฝากนิสิต นักศึกษาให้ดูแลรักษาตัวเองให้ปลอดภัย

ที่ จ.ชุมพร นักเรียน นักศึกษา ประมาณ 300 คน จาก ร.ร.ศรียาภัย ร.ร.สอาดเผดิมวิทยา และวิทยาลัยเทคนิคชุมพร พร้อมประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชุมพร ร่วมชุมนุมหน้าวิทยาลัยเทคนิคชุมพร และหน้าโรงเรียนศรียาภัย นำโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานพันธมิตร 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมขับไล่รัฐบาล และยังทำโลงศพจำลองเขียนชื่อนายสมัคร

นายสมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ให้อิสระในการทำกิจกรรมของนักศึกษาอย่างเต็มที่ หากจะหยุดเรียนสามารถทำได้ ในส่วนของอาจารย์และบุคลากรนั้นได้ร่วมกันล่ารายชื่อเพื่อให้รัฐบาลลาออก แก้ปัญหาของชาติ ขณะนี้มีผู้สนใจมาร่วมลงชื่อจำนวนมากแล้ว
ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารไม่มีนโยบาย หรือสนับสนุน หรือขัดขวางนักศึกษา รวมถึงอาจารย์ผู้สอนที่จะไปเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นสามารถไปร่วมได้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ศาลชี้ชะตา สมัคร วันนี้ ชิมไปบ่นไป ขาดคุณสมบัติ?



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก INN NEWS และ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (8 กันยายน) นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ในการรับจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" เป็นนัดสุดท้าย โดยนัดไต่สวน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง และนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการบริหารบริษัท เฟซ มีเดีย ผู้ผลิตรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า
โดย นายสมัคร ได้ให้การยืนยันต่อศาลว่า การจัดรายการดังกล่าวไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือน โดยจะได้รับเป็นครั้งคราวตามที่จัดรายการ ในลักษณะรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ทั้งนี้เมื่อมีการกำหนดวันหาเสียงเลือกตั้ง ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายกับทนายความ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า สามารถทำได้ในลักษณะรับจ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการร้องเรียนเข้ามาตนก็ได้ยุติการจัดรายการ พร้อมกับสั่งให้มีการงดนำเทปที่บันทึกไว้ไปออกอากาศทันที จึงมั่นใจว่าตนไม่ได้ทำผิด พร้อมกันนี้ยังสาบานกลางศาลว่า หากตนกล่าวเท็จขอให้ไม่เจริญ



"ผมยืนยันและสาบานไว้ตรงนี้ด้วยว่า ไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย ถ้าผมไปเรียกร้องอะไรเขาล่ะก็ ขออย่าให้ผมมีความเจริญ ขอให้บรรลัยวายวอดไปก็แล้วกัน แต่หากผมไม่ได้ทำอย่างนั้น ต้องให้ผมมีความเจริญรุ่งเรือง" นายสมัคร กล่าว
ทั้งนี้คณะตุลาการได้ใช้เวลาสืบพยานทั้ง 2 ปากเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นคณะตุลาการได้ประชุมเพื่อกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัย โดยศาลนัดคู่ความฟังคำวินิจฉัยใน วันนี้ (9 กันยายน) เวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 9 กันยายน ว่านายสมัครมีคำผิดตามคำฟ้องจริง จะส่งผลให้นายสมัครจะต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันที ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) แต่ความเป็น ส.ส.ยังคงอยู่ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็จะต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีไปทั้งคณะ อย่างไรก็ตาม นายสมัครสามารถจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เหมือนเดิม หากสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อให้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง



วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

สันติวิธี … เพื่อสันติประชาธิปไตย




สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


หลังเกิดเหตุการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น หลายคนตั้งคำถามขึ้นในใจว่าเพราะอะไร ทำไมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำไมคนไทยถึงฆ่าคนไทยด้วยกันเอง และจะทำอย่างไรปัญหาต่างๆ ถึงจะจบลงอย่างสันติ ไม่มีการนองเลือดจนลามไปถึงสงครามกลางเมือง ดังนั้น วันนี้เรามีจึงหยิบเอาคติธรรมข้อคิดดีๆ จากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี มาฝากคนไทยทุกคนค่ะ

(1) ขอให้รัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคนไทยทั้งปวง จงทำใจให้กว้างโดยการตระหนักรู้ว่า การชุมนุมกันทางการเมืองก็ดี ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ดี ถือว่า นี่เป็นปรากฏการณ์อันเป็นธรรมดาของบ้านเมืองที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

(2) ขอให้รัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นใหญ่ เป็นสำคัญ อย่าทำการใดก็ตาม เพียงเพื่อสนองผลประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงว่าประเทศชาติประชาชนจะเสียหายใหญ่หลวงเพียงไร

(3) ขอให้ทุกท่าน ทุกคน ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักธรรมสำคัญ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยไม่เสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกันดังต่อไปนี้

3.1 ขอให้ยึดมั่นใน "ขันติธรรม" กล่าวคือ การอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด อย่าลุแก่โทสะ คือ ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา หรือนำไปสู่การเผชิญหน้ากันโดยขาดความยั้งคิด

3.2 ขอให้ยึดมั่นใน "สันติธรรม" กล่าวคือ ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาทุกขั้นตอน โดยขอให้คิดอย่างสันติ (เช่น ไม่วางยุทธศาสตร์ให้ทหาร ตำรวจ ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์) พูดอย่างสันติ (เช่น ไม่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง หรือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง) และทำอย่างสันติ (เช่น ใช้การเจรจาเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหา)

3.3 ขอให้ยึดมั่นใน "เมตตาธรรม" กล่าวคือ อย่าเผชิญหน้ากันโดยการตั้งธงแห่งอคติไว้ล่วงหน้าว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนเป็น "ปรปักษ์" ที่จะต้องถูกกำจัด ถูกลงฑัณฑ์ให้หนักหนาสาหัส แต่ขอให้เผชิญหน้ากับคนที่อยู่ตรงข้ามกับตนในฐานะที่เขาก็เป็น "คนไทยเหมือนกันกับเรา" เขาแค่เห็นหรือปฏิบัติไม่ตรงกับเรา ไม่ได้หมายความว่าเขามี "ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเรา"

3.4 ขอให้ยึดมั่นใน "นิติธรรม" กล่าวคือ เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ประเทศชาติประกอบด้วยคนที่ต่างคนต่างความคิด ต่างความเห็น ต่างความต้องการ หากทุกคน ทุกฝ่าย ต่างยึดเอา "ความต้องการ" ของตนเป็นที่ตั้ง ก็ไม่มีทางที่ประเทศชาติจะมีสันติสุขได้เลย ดังนั้น เราทุกคน ทุกฝ่าย จึงควรร่วมกันยกเอากฎหมาย ขึ้นเป็นใหญ่ เป็นสำคัญ เป็นบรรทัดฐาน ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทุกคนที่ไม่ยอมให้แก่ใคร ในท้ายที่สุดก็ควรจะยอมให้แก่กฎหมาย เมื่อมาอยู่เบื้องหน้ากฎหมายแล้วขอให้เราเคารพกฎหมาย เพราะหากไม่เคารพกฎหมายเลย บ้านเมืองก็จะเข้าสู่สภาพอนารยะ ไม่มีขื่อไม่มีแป ไม่มีหลักประกันในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และจะก่อให้เกิดสภาพล้าหลังในทุกๆ ทางอย่างน่าเสียใจเป็นที่สุด

ขอให้เราคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมกันตั้งกัลยาณจิต ภาวนาให้เราสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ร่วมกันอย่างสันติในเร็ววัน
พันธมิตร ซัดหมักรวบอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ที่ห้องสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงถึงกรณีครม.มีมติโอนอำนาจทุกกระทรวงให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า เป็นวิธีการเผด็จการอย่างชัดเจนทั้งที่นายสมัครบอกว่าจะรักษาประชาธิปไตย ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็คงไม่ทำแบบนี้ เพราะนายกฯ ยึดอำนาจรัฐมนตรีทั้งคณะให้สามารถสั่งการได้คนเดียว ทั้งที่นายกฯ ไม่ได้มีความรู้ความสามารถที่จะสั่งการได้ทุกกระทรวงและนายสมัครก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในทุกเรื่อง อีกทั้งนายกฯก็เริ่มไม่ไว้วางใจทหาร แม้ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่พอยังยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งการบริหารแบบนี้ก็มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้น
เมื่อถามว่า พันธมิตรเป็นห่วงอำนาจทหารที่อยู่ในมือนายกฯหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่าไม่เป็นห่วง เพราะยังเชื่อมั่นในอำนาจของพลังประชาชนที่บริสุทธิ์ และพลังประชาชนก็ยังสนับสนุนพันธมิตรเพียงพอ ถ้าประชาชนยังสนับสนุนก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใดๆ และถ้าประชาชนไม่ให้การสนับสนุนก็ว่าไปตามกฎเกณฑ์ ไม่วิตกกังวล